Sorry, you need to enable JavaScript to visit this website.
Your Pet, Our Passion.
วิธี ฝึก แมว

วิธีฝึกลูกแมวและแมวโตเต็มวัย

10 นาที

หลายคนคิดว่าการฝึกเป็นเรื่องของสุนัข แต่ทราบหรือไม่ว่า แมวก็เรียนรู้คำสั่งได้เช่นกัน แมวของคุณสามารถจดจำชื่อของตัวเองได้ และมาหาเมื่อคุณเรียก เพื่อช่วยให้สัตว์เลี้ยงของคุณเรียนรู้ทักษะเหล่านี้ คุณควรเริ่มฝึกตั้งแต่เขายังเด็ก

 

วิธีฝึกแมวให้มีทักษะการเข้าสังคม

การฝึกลูกแมวเริ่มที่การเข้าสังคม ยิ่งแมวได้พบเจอผู้คนตั้งแต่เด็กมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งตื่นกลัวเมื่อโตขึ้นน้อยลงเท่านั้น ทันทีที่ลูกแมวเดินได้เองโดยที่แม่แมวไม่ต้องคอยช่วยเหลือ ลูกแมวมักจะเข้าหาสถานการณ์ใหม่ ๆ ด้วยความมั่นใจและความอยากรู้อยากเห็นซึ่งเป็นอุปนิสัยที่โดดเด่นของแมว ลูกแมวจะมีความกลัวน้อยที่สุดเมื่ออายุ 3-7 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงวัยที่พวกเขาเปิดรับประสบการณ์ใหม่ ๆ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในสภาพแวดล้อมของตน เมื่อพ้นช่วงนี้ไปแล้ว ลูกแมวจะระวังตัวมากขึ้น ดังนั้นผู้เพาะพันธุ์จึงควรแนะนำสิ่งต่าง ๆ ให้แมวรู้จักให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ก่อนที่คุณจะมารับไป ซึ่งช่วงวัยที่ดีที่สุดของการนำไปเลี้ยงคือ 8-13 สัปดาห์ (ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และผู้เพาะพันธุ์)

การพัฒนาทางอารมณ์ของลูกแมวไม่ได้หยุดอยู่ที่อายุ 12 สัปดาห์ คุณจึงควรฝึกลูกแมวต่อเมื่อมาอยู่ที่บ้าน นี่เป็นส่วนหนึ่งของเคล็ดลับที่จะช่วยให้ลูกแมวของคุณพัฒนาต่อไปได้อีก

  • เชิญเพื่อนที่มีลักษณะต่าง ๆ กันมาที่บ้าน เพื่อช่วยให้ฝึกลูกแมวให้คุ้นเคยกับผู้คนที่มีลักษณะหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านอายุ เพศ ส่วนสูง สีผม และอื่น ๆ
  • หากบ้านของคุณไม่มีเด็ก ลองชวนเด็ก ๆ มาที่บ้านแต่ต้องแน่ใจว่าคุณได้บอกวิธีดูแลลูกแมวให้เด็กทราบ โดยเฉพาะถ้าเด็กเหล่านี้ไม่เคยเห็นลูกแมวมาก่อน
  • และถ้าคุณรู้จักคนที่มีสุนัขที่เป็นมิตรกับแมว ชวนให้เขาพาสุนัข มาเจอกับลูกแมวของคุณด้วย แต่สุนัขควรจะต้องผ่านการฝึกมาเป็นอย่างดีและสามารถปฏิบัติตามคำสั่ง “นิ่ง/คอย” แม้ว่าจะตื่นเต้นเมื่อพบกับเพื่อนใหม่ตัวจิ๋วก็ตาม
  • ฝึกลูกแมวให้นั่งรถเป็นระยะทางสั้น ๆ เพื่อให้ชินกับการเดินทางโดยรถยนต์ตั้งแต่อายุน้อย ๆ ให้ขนมเมื่อกลับถึงบ้าน เพื่อให้เขามองว่าการเดินทางคือการได้รับรางวัลอย่างหนึ่ง

วิธีฝึกแมวและการฝึกลูกแมว เบื้องต้น

เมื่อแมวของคุณจดจำทักษะการเข้าสังคมพื้นฐานได้เป็นอย่างดีแล้ว ก็สามารถเริ่มฝึกลูกแมวในทักษะด้านอื่น ๆ ต่อไป แต่ก่อนที่จะเริ่ม ขอแนะนำให้พาแมวไปตรวจสุขภาพกับสัตวแพทย์เพื่อให้แน่ใจว่าแมวไม่มีโรคประจำตัวที่อาจเป็นปัญหาต่อการฝึก เช่น ปัญหาเกี่ยวกับข้อต่อหรือการได้ยิน

เมื่อแมวมีสุขภาพที่ดีแล้ว เราก็เริ่มสอนทักษะอื่น ๆ ให้กับเขากันเลย เคล็ดลับเหล่านี้จะช่วยเสริมประสิทธิภาพให้กับชั่วโมงการฝึกของคุณ

  • เน้นคำที่ใช้ในการสอนให้แมวทำสิ่งต่าง ๆ (เช่น “นั่ง”) ด้วยการพูดอย่างชัดเจนและมั่นใจ ตามด้วยคำชม ตัวอย่างเช่น “นั่ง ดี นั่ง”
  • ให้ขนมเป็นรางวัลเพื่อส่งเสริมการฝึก ใครล่ะจะไม่ตั้งใจทำงานเมื่อรู้ว่ามีขนมแสนอร่อยรออยู่
  • ใช้คลิกเกอร์หรือกระดิ่งเสียงเบา ๆ เวลาให้ขนม เพื่อให้แมวตีความว่าเสียงนั้นคือรางวัล และเรียนรู้ที่จะทำตามคำสั่งเมื่อได้ยินเสียงนี้อีก
  • ฝึกลูกแมวหรือแมวโตก่อนมื้ออาหาร เพราะรางวัลที่เป็นของกินคงไม่ดึงดูดนักหากท้องยังอิ่ม ในขณะเดียวกันก็อย่าให้แมวอดอาหารเพื่อหวังให้พวกเขารีบเรียนรู้ เพราะแมวที่หิวมาก ๆ อาจหมดความอดทนอย่างรวดเร็ว
  • ขณะฝึกลูกแมว พยายามไม่ให้มีเสียงรอบข้างจากโทรทัศน์หรือวิทยุมารบกวน เพื่อให้แมวจดจ่อกับการฝึก
  • ใช้เวลาในการฝึกเพียงสั้น ๆ และฝึกให้เสร็จก่อนที่แมวจะเบื่อหรือเหนื่อย โดยไม่ควรเกิน 15 นาทีต่อการฝึกหนึ่งครั้ง เพื่อให้นักเรียนตัวน้อยของคุณยังคงสดชื่นอยู่
  • ดูแลชั่วโมงฝึกลูกแมวให้มีความเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ผู้ฝึกคนเดิม (อาจเป็นคุณ หรือครูฝึกมืออาชีพ) รวมถึงคำสั่ง สัญญาณ และรางวัล
  • รอจนแมวเรียนรู้ทักษะหนึ่งได้แล้วค่อยสอนทักษะต่อไป เพราะแมวอาจจำไม่ได้หากสอนหลายทักษะพร้อมกัน
  • พยายามฝึกลูกแมวครั้งละ 10 นาทีทุกวัน เพราะการฝึกเป็นครั้งคราวนั้นอาจไม่ได้ผลตามต้องการและทำให้แมวสับสน
  • ขอให้อดทน วิธีฝึกแมวต้องใช้เวลา คุณควรให้คำชมและรางวัลแก่สัตว์เลี้ยงทุกครั้งที่ฝึกและมีพฤติกรรมที่ดี หากแมวทำผิดไปจากที่สอน บอกอย่างหนักแน่นว่า “ไม่” ก่อนจะบอกให้เขาทำสิ่งอื่น ตัวอย่างเช่น หากแมวทำสิ่งของตกพื้น ให้พูดว่า “ไม่” และนำของเล่นมาแขวนให้พวกเขาเล่นแทน

เมื่อคุณทราบวิธีเบื้องต้นในการฝึกลูกแมวหรือแมวโตแล้ว ก็ถึงเวลาที่คุณจะสอนทักษะอื่น ๆ ให้กับเขา มาสนุกกันเลย!