จริงหรือเปล่าที่น้องแมวมี 9 ชีวิต
มีตำนานและเรื่องเล่าต่างๆ เกี่ยวกับน้องแมวที่เราคงเคยได้ยินกันผ่านหูมาตั้งแต่เด็ก และมีหลายหลากความเชื่อที่เป็นเรื่องราวสืบต่อกันมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแห่นางแมวขอฝน แมวกวักให้โชค แต่มีอีกหนึ่งเรื่องที่เชื่อว่าเราทุกคนน่าจะเคยได้ยิน แต่ไม่รู้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงหรือเปล่า นั่นคือเรื่องของ แมว 9 ชีวิต นั่นเอง
อันที่จริงแล้วต้นกำเนิดของตำนานแมวเก้าชีวิตนี้ ยังไม่ปรากฏแน่ชัดว่ามาจากที่ใด แต่ถ้ามาสืบความหาที่มาของต้นเหตุแห่งตำนานแมวเก้าชีวิตนั้น อาจมาจากการที่คนสมัยก่อนเห็นแมวตกจากที่สูงแล้วไม่ตาย ทำให้เผลอคิดว่าแมวอาจมีมากกว่า 1ชีวิต ซึ่งเป็นที่มาของตำนานแมว 9 ชีวิต หรือในบางชาติก็เชื่อกันว่าแมวมี 7 ชีวิต
ในความเป็นจริง หากพูดกันตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว ก็สามารถอธิบายถึงเรื่องแมว 9 ชีวิต ได้ง่ายๆ เรื่องนี้เรียกว่าเป็นความสามารถเฉพาะเหมียวแบบที่ใครก็ลอกเลียนแบบไม่ได้ การที่น้องแมวตกมาจากที่สูงแล้วไม่เป็นไรนั้น เพราะร่างกายของน้องแมวมีความสามารถในการทรงตัวและกลับตัวกลางอากาศได้ เมื่อน้องแมวเสียการทรงตัวและตกลงมาจากที่สูง น้องแมวจึงสามารถเอาเท้าลงมาที่พื้นได้ทุกครั้ง ดังนั้นเมื่อน้องแมวพลัดตกลงมา สัญชาตญาณกลับตัวกลางอากาศจะเริ่มทำงานทันทีด้วยเวลาชั่วพริบตาเพียงแค่ 0.1 วินาที (หรือเสี้ยววินาที) โดยความสามารถอันน่าทึ่งนี้ถูกควบคุมจากอวัยวะที่ชื่อ Vestibular Apparatus ซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่ในหูชั้นในของน้องแมว คอยทำหน้าที่ควบคุมสมดุลการทรงตัวและการกลับของน้องแมวนั่นเอง และความพิเศษยามเมื่อน้องแมวกลับตัวเรียบร้อยแล้วและขาแตะถึงพื้นแล้ว ขาทั้ง 4 ข้างยังทำหน้าที่คล้ายกับสปริง ทำให้ลดแรงกระแทกกับพื้นได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
แบบนี้แสดงว่าน้องแมว ก็สามารถกระโดดลงมาจากตึกสูงๆ ได้เลยน่ะสิ?
คำถามนี้เป็นที่สงสัยกันจนต้องมีนักวิจัยมาหาคำตอบกันเลยทีเดียว ว่าน้องแมวสามารถตกได้จากตึกสูงกี่ชั้นถึงจะปลอดภัย โดย Jared Diamond ได้ทำการศึกษาว่าน้องแมวตกจากตึกกี่ชั้นถึงจะเสียชีวิต ศึกษาจากกรณีแมวพลัดตกตึกตั้งแต่ 2 – 32 ชั้น เป็นจำนวนรวม 104 ตัว ผลการศึกษาพบว่าน้องแมวที่ตกจากชั้นประมาณ 4 – 9 นั้นกลับมีโอกาสบาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุด ไม่ใช่น้องแมวที่ตกมาจากชั้นสูงๆ เช่น ชั้นที่ 32 เลย สาเหตุที่เป็นเช่นนี้อธิบายได้ว่า ที่ความสูงตั้งแต่ชั้น 9 เป็นต้นไป จะเป็นความสูงระดับที่มากพอให้เกิดแรงต้านอากาศและมีเวลาในการตกเหลือพอให้น้องแมวได้จัดร่างกายพร้อมรับแรงกระแทกบนพื้น ประกอบกับน้องแมวมีน้ำหนักน้อยจึงทำให้แรงปะทะเมื่อถึงพื้นไม่มากนัก และทำให้การบาดเจ็บนั้นไม่ถึงแก่ชีวิตนั่นเอง แต่ในระดับความสูงตึกชั้นที่ 4 – 9 นั้น แม้จะมีแรงต้านอากาศช่วย แต่ความสูงที่น้อยลงทำให้น้องแมวมีเวลาไม่มากพอจะจัดท่าเตรียมรับแรงกระแทกได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้ช่วงระหว่างชั้นนี้เมื่อน้องแมวตกลงมาแล้วมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าชั้นสูงๆ แต่สำหรับชั้นที่ต่ำกว่าชั้น 4 แม้ว่าจะมีช่วงเวลาตกจะสั้นมาก แต่ด้วยความสูงที่ไม่มากนักทำให้แรงกระแทกไม่มากตามไปด้วย แมวจึงไม่เสียชีวิตนั่นเอง
แต่ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นแมวเก้าชีวิต แต่ก็ขอเซฟไว้ก่อน ไม่ตกลงมาเลยน่าจะดีกับน้องแมวมากกว่าว่าไหมล่ะ