Sorry, you need to enable JavaScript to visit this website.
Your Pet, Our Passion.
วิธีฝึกลูกสุนัข

เคล็ดลับในการฝึกลูกสุนัขให้เข้าสังคม

14 นาที

สุนัขมีช่วงเวลาสั้น ๆ ที่สามารถฝึกและพัฒนาทักษะให้กลายเป็นเพื่อนแท้ของมนุษย์และเติบโตกลายเป็นสัตว์เลี้ยงที่เป็นมิตร อบอุ่น และเคียงข้างคุณ การเตรียมความพร้อมให้สุนัขก่อนเผชิญโลกกว้างเป็นครั้งแรกเป็นเรื่องสำคัญ เจ้าของจะต้องสอนให้สุนัขรู้จักวิธีสร้างปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก สุนัขโตหรือสิ่งอื่น ๆ ที่จะได้พบเจอในชีวิต

วิธีฝึกลูกสุนัขให้เข้าสังคมเป็นหนึ่งในหลายสิ่งที่เจ้าของต้องพิจารณาเมื่อรับลูกสุนัขมาเลี้ยง เจ้าของสุนัขมือใหม่หลายคนอาจมัวแต่วุ่นกับการเตรียมซื้อของต้อนรับลูกสุนัขตัวใหม่ หรือเตรียมจัดบ้านและสวนให้ “ปลอดภัย” กับลูกสุนัข หรือเตรียมอ่านเทคนิคการเลี้ยงลูกสุนัขหรือการฝึกลูกสุนัขให้เขาเติบโต มีความสุข สุขภาพดีและมีมารยาท แต่หลายคนมักละเลยสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งของชีวิตสุนัข นั่นคือ การฝึกสุนัขหรือการสอนให้เขาปรับตัวรับมือกับวิถีชีวิตที่วุ่นวายของมนุษย์

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องฝึกสุนัขให้เข้าสังคม เนื่องจากคนส่วนใหญ่รู้ว่า ต้องพาลูกสุนัขเข้าสังคมแต่ไม่ค่อยมีใครเข้าใจว่าสิ่งนี้จริง ๆ แล้วคืออะไร ทำเมื่อไหร่และอย่างไรจึงจะเหมาะสม

อย่างไรก็ดี ด้วยมาตรการล็อกดาวน์ที่ส่งผลต่อหลายประเทศทั่วโลก ทำให้เจ้าของสุนัขหลายคนต้องหาวิธีฝึกลูกสุนัขเข้าสังคมแบบใหม่ในช่วงล็อกดาวน์แบบนี้

แน่นอนว่า นอกจากข้อกำหนดในการรักษาระยะห่างรวมถึงข้อกำหนดที่ส่งผลให้ออกกำลังกายได้น้อยแล้ว เจ้าของสุนัขเองก็ยังอยากให้ลูกสุนัขตัวน้อยได้มีโอกาสออกไปสัมผัสโลกภายนอกได้อย่างมีความสุขและด้วยความพร้อม นี่จึงเป็นเหตุผลให้ Purina ได้รวบรวมครูฝึกสุนัขมาให้คำแนะนำเคล็ดลับต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการฝึกสุนัขในช่วงที่เราต้องอยู่บ้านเช่นนี้

 

การฝึกลูกสุนัขให้เข้าสังคมคืออะไร

การฝึกลูกสุนัขให้เข้าสังคมคือ กระบวนการฝึกที่ช่วยให้สุนัขได้เรียนรู้ว่าควรทำตัวอย่างไรเมื่อต้องปฏิสัมพันธ์กับคน สุนัขตัวอื่นหรือแม้แต่สัตว์อื่น ๆ

การฝึกลูกสุนัขให้เข้าสังคมนั้นนอกจากช่วยให้ความสัมพันธ์กับเจ้าของดีขึ้นแล้ว ยังช่วยเตรียมความพร้อมในกับลูกสุนัขในการอยู่ในสภาพแวดล้อมและเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วย

ด้วยเหตุนี้การฝึกสุนัขให้เข้าสังคมจึงเป็นวิธีที่ดีในการป้องกันพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในอนาคต และยังช่วยให้เรามั่นใจได้ว่า เราจะพาสุนัขไปยังสถานที่ต่าง ๆ ได้

 

วิธีฝึกลูกสุนัขให้เข้าสังคมในช่วงล็อกดาวน์

เมื่อลูกสุนัขมีอายุได้ 3-14 สัปดาห์เป็นช่วงเวลาสำคัญของพัฒนาการสุนัข เป็นช่วงที่เขาจะได้เรียนรู้ทำความรู้จักคุ้นเคยกับมนุษย์ สัตว์ชนิดอื่น ๆ และวัตถุรอบตัว (เป็นช่วงพัฒนาทักษะการเข้าสังคมและพฤติกรรม) เมื่อผ่านช่วงเวลานี้ไป เขาจะรู้สึกผ่อนคลายกับสิ่งรอบตัวมากขึ้น นี่จึงเป็นโจทย์ที่ทำให้เจ้าของต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้มากขึ้น เมื่อต้องฝึกสุนัขในช่วงที่ต้องอยู่ในบ้านแบบนี้ เพื่อให้ลูกสุนัขได้มีโอกาสเรียนรู้และมีประสบการณ์ใหม่ ๆ มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

วิธีสร้างความคุ้นเคยกับสิ่งใหม่ ๆ ให้กับลูกสุนัข

  • ข้อแรกคือ ใจเย็น เมื่อต้องเริ่มฝึกสุนัข
  • ลองใช้อาหารเข้าช่วยในการสร้างความสัมพันธ์
  • ไม่บังคับสุนัขแต่ให้เขาค่อย ๆ ใช้เวลาเรียนรู้ตามความพร้อมของเขา

ยอมให้เขาเดินหนีหรือกลับมาหาคุณได้เมื่อต้องการ

สัญญาณที่ดีในการฝึกลูกสุนัขได้แก่

  • ลูกสุนัขมองดูวัตถุด้วยความสงบ
  • ลูกสุนัขเดินไปหาและสำรวจดู
  • ลูกสุนัขเลือกที่จะไม่สนใจสิ่งใหม่ที่เห็น
  • ลูกสุนัขเลือกที่จะไม่สนใจอาหาร ของเล่นหรือคำชม
  • ลูกสุนัขเล่นและมีปฏิสัมพันธ์ตามปกติหลังจากสำรวจสิ่งใหม่เสร็จครั้งแรก
  • ลูกสุนัขดีใจที่ได้สร้างปฏิสัมพันธ์
  • ลูกสุนัขแกว่งหางไปมาเบา ๆ

ควรยื่นมือเข้าไปช่วยเมื่อลูกสุนัขมีพฤติกรรมดังนี้

  • ถอยหลังหนี
  • เห่า
  • ย่อตัวหรืออยู่นิ่ง ๆ
  • หันหลังหนีหรือไม่ยอมเผชิญหน้า
  • ไม่กล้าเข้าใกล้
  • จ้องมองอย่างหมกมุ่น

เมื่อเริ่มฝึกลูกสุนัข เราควรช่วยลูกสุนัขด้วยการให้กำลังใจและคอยอยู่เป็นเพื่อนห่าง ๆ

เรารู้ดีว่าช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่สับสนและมีความเครียดเนื่องจากเราไม่รู้ว่าจะให้ลูกสุนัขได้ฝึกเข้าสังคมในช่วงล็อกดาวน์ได้อย่างไร แต่ถ้าเราพยายามมากขึ้นอีกเล็กน้อยรวมกับความคิดสร้างสรรค์ก็จะช่วยให้ลูกสุนัขของเราได้เติบโตขึ้นมาโดยมีทักษะในการเข้าสังคมเช่นเดียวกับสุนัขตัวอื่น ๆ

บทความนี้รวบรวมข้อมูลการฝึกสุนัขให้เข้าสังคมตามช่วงวัยต่าง ๆ รวมถึงวิธีการสอนและช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง

การฝึกลูกสุนัขให้เข้าสังคมในชีวิตจริงแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ การสอนให้ลูกสุนัขรู้จักกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวที่เราอยากให้เขามีปฏิสัมพันธ์ด้วย ดังนั้นส่วนนี้จึงเรียกว่า “การฝึกให้เข้าสังคม” เช่น การฝึกให้รู้จักคนที่มีบุคลิก ลักษณะ และช่วงอายุต่างๆ และรู้จักสุนัขตัวอื่น ๆ

การฝึกลูกสุนัขให้เข้าสังคมเป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากสัตว์ทุกตัวมีสัญชาตญาณในการเอาตัวรอดและถูกวางโปรแกรมให้ “กลัว” สิ่งใหม่ ๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับตนเอง แต่สำหรับสัตว์ที่เพิ่งเกิดใหม่นั้น ทุกสิ่งล้วนเป็นสิ่งแปลกใหม่ ธรรมชาติจึงให้ช่วงเวลาในการพัฒนาและเรียนรู้ว่าสิ่งใดบ้างที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและไม่จำเป็นต้องกลัว เมื่อพ้นระยะนี้ไปแล้ว สิ่งของใหม่ ๆ ที่พบเจออาจทำให้สุนัขกลัวหรือหวาดระแวงได้

อีกส่วนหนึ่งของการฝึกลูกสุนัขคือ การสร้างพฤติกรรมที่เหมาะสมให้สุนัข การฝึกส่วนนี้เป็นการสอนให้ลูกสุนัขได้รู้ว่า ชีวิตของเขาอาจจะต้องเผชิญกับหลายสิ่งที่น่ากลัวหรือรบกวนจิตใจได้ แต่ลูกสุนัขไม่ควรสนใจ กังวลหรือตื่นเต้นกับสิ่งเหล่านี้ เช่น เครื่องดูดฝุ่น ประทัด นักวิ่งหรือวัวควาย การจราจรหรือนักปั่น และอื่น ๆ

ปัญหาเรื่องพฤติกรรมส่วนใหญ่มักมาจากความกลัว การที่ลูกสุนัขมีพฤติกรรมก้าวร้าวใส่คนก็มาจากความกลัวคนแปลกหน้า หากสุนัขก้าวร้าวใส่สุนัขอื่นก็เป็นเพราะกลัวสุนัขแปลกหน้า อาการกลัวเสียงมาจากการกลัวเสียงแปลก ๆ ที่ไม่เคยได้ยินหรือเสียงดัง ส่วนความกังวลที่จะถูกจับแยกก็มาจากการกลัวที่จะต้องอยู่ตามลำพัง เป็นต้น

การฝึกลูกสุนัขให้เข้าสังคมและพฤติกรรมที่เหมาะสมล้วนเป็นการป้องกันการกลัวสิ่งเหล่านี้ ช่วยลดความเป็นไปได้ที่จะมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและช่วยให้สุนัขปรับตัวได้ดี มีความสุข เข้าสังคมได้

โดยหลักแล้ว “การฝึกให้เข้าสังคม” เป็นการสอนให้สุนัขเป็นมิตรและสนุกกับสิ่งที่รอบตัว ส่วน “การสร้างพฤติกรรมที่เหมาะสม” เป็นการสอนให้สุนัขปล่อยวางกับสิ่งต่าง ๆ ที่สร้างความกลัว

 

ควรฝึกลูกสุนัขให้เข้าสังคมและมีพฤติกรรมที่เหมาะสมเมื่อไหร่

เรื่องยากของการฝึกลูกสุนัขให้เข้าสังคมก็คือ จะฝึกได้เฉพาะช่วงที่สมองของลูกสุนัขกำลังพัฒนาเท่านั้น เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายสุนัขนั้นมีเงื่อนไขเรื่องเวลา เมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้วก็จะไม่เพิ่มขึ้น เซลล์สมองก็เช่นกัน หลังจากพ้นช่วงพัฒนาการสมองแล้ว พัฒนาการของลูกสุนัขจะเป็นการพัฒนาทักษะทางสังคม (การสื่อสาร การปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การยุติความขัดแย้ง) ร่วมกับการฝึกตัดสินใจว่า อะไรที่เป็นส่วนสำคัญของชีวิตและ “ปลอดภัย”

กล่าวโดยสรุปได้ว่า สุนัขจะเริ่มเรียนรู้ว่าควรมีปฏิสัมพันธ์กับคน สุนัขตัวอื่นหรือสถานการณ์อย่างไรได้เพียงแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ เมื่อพ้นช่วงพัฒนาการแล้ว มักปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ยาก แน่นอนว่าสุนัขสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ แต่ลูกสุนัขจะเริ่มพัฒนาบุคลิกและเรียนรู้วิธีตอบสนองกับสิ่งรอบตัวได้ภายในเวลาจำกัดหลังสุนัขเกิดเพียงไม่กี่สัปดาห์

ช่วงที่สามารถฝึกลูกสุนัขให้เข้าสังคมจะเริ่มตั้งแต่ช่วง 15 วันแรกหลังคลอดและสิ้นสุดลงเมื่อเขาอายุได้ 14 สัปดาห์ แต่กรอบเวลานี้อาจต่างกันไปตามสายพันธุ์และประเภทของสุนัข ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ลูกสุนัขจะเรียนรู้เรื่องฝูง ใครบ้างที่เขาอยู่ด้วยได้อย่างปลอดภัย และใครบ้างที่ลูกสุนัขถือว่าเป็นผู้ที่อยู่ในฝูงเดียวกัน

ส่วนของพฤติกรรมนั้นมีช่วงเวลาที่สั้นกว่าช่วงเวลาพัฒนาการสมองที่กล่าวมา เนื่องจากสัตว์จำเป็นต้องเรียนรู้อย่างรวดเร็วว่าอะไรปลอดภัยหรืออันตรายเพื่อเอาชีวิตรอด ช่วงเวลาดังกล่าวนี้เริ่มตั้งแต่เมื่อเขารู้สึกตัวไปจนอายุประมาณ 7 สัปดาห์ ในขั้นนี้เป็นการฝึกประเมินซ้ำ (เช่น “ประเมินว่า สิ่งนี้ปลอดภัยจริงๆ หรือไม่”) และการสรุปรวม (“ฉันรู้ว่าปลอดภัยเมื่ออยู่ที่บ้านกับแม่ แต่ที่นี่จะปลอดภัยเหมือนกันไหม”) ซึ่งต้องอาศัยเวลาอีก 2-3 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีช่วงอื่น ๆ ของชีวิตสุนัข (ช่วงโตเต็มวัย) ที่สุนัขต้องผ่านช่วงของการประเมินซ้ำอีก

 

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในการฝึกลูกสุนัขให้เข้าสังคม

การฝึกลูกสุนัขเข้าสังคม เราอาจอยากพาลูกสุนัขออกไปข้างนอกเพื่อให้เขาได้ฝึกสัมผัสกับสิ่งที่อาจน่ากลัวต่างๆ หรือได้พบผู้คนและสุนัขตัวอื่น แต่ก็มีบางครั้งที่เราอาจฝึกให้สุนัขเข้าสังคมในแบบที่ไม่เหมาะสม นั่นคือการบังคับให้เขามีปฏิสัมพันธ์หรือไม่ได้ให้เขามีส่วนร่วมตัดสินใจเลือกฝึกในเวลาที่เหมาะสมกับความพร้อมของเขา พูดง่าย ๆ ก็คือลูกสุนัขอาจจะถูกบังคับให้ฝึกเข้าสังคมโดยไม่มีความสุข

อย่าลืมว่า ลูกสุนัขอยู่ในขั้นตอนฝึกประเมินและตัดสินใจว่า สิ่งที่เขาได้พบนั้นปลอดภัยหรือไม่ ดังนั้นทุกสิ่งที่เขาสัมผัสควรสร้างความสนุกและสร้างความรู้สึกดี ๆ เนื่องจากการเรียนรู้ว่าอะไรปลอดภัยหรือไม่นั้น เขาก็เรียนรู้ว่าอะไรน่ากลัวหรืออาจเป็นอันตรายไปพร้อม ๆ กันด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อฝึกลูกสุนัขให้เข้าสังคม เจ้าของต้องเข้าใจหลักการว่าควรฝึก “อย่างไร” และฝึกด้วย “อะไร” เช่นกัน การพบปะกับสิ่งที่น่ากลัวจะฝังลึกในสมองของลูกสุนัขว่า เป็นสิ่งที่เขาต้องหลีกเลี่ยง (คือปฏิกิริยาตอบสนอง) ในอนาคตเมื่อเขาโตขึ้นและแข็งแรงขึ้น

อีกวิธีการหนึ่งที่เป็นการฝึกลูกสุนัขให้เข้าสังคมที่ผิดก็คือ การที่เราคิดเอาเองว่า สุนัขต้องพร้อมพบปะกับสุนัขตัวอื่นเสมอ และเหมาเอาเองว่า นี่เป็นเป้าหมายในการเข้าสังคมของสุนัข แนวคิดนี้ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องตามความจริง เป็นการฝึกสุนัขในทางที่ผิด และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การปฏิสัมพันธ์ของสุนัขไม่เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น สุนัขที่มีทักษะการเข้าสังคมคือ สุนัขที่มีเพื่อนสุนัขบางตัวที่เขาชอบเล่นด้วย แต่ส่วนใหญ่แล้วเขาก็สามารถอยู่กับสุนัขตัวอื่นด้วยความสงบผ่อนคลายในขณะที่ยังฟังและเคารพเจ้าของอยู่

ข่าวดีก็คือ การฝึกลูกสุนัขให้เข้าสังคมและสร้างพฤติกรรมที่เหมาะสมนี้สนุกและไม่ยาก ดังนั้นผู้เพาะพันธุ์สุนัขกับเจ้าของควรร่วมมือกันในการเตรียมตัวลูกสุนัขตัวให้เติบโตเป็นสุนัขที่พร้อมที่จะใช้ชีวิตร่วมกันอย่างดีและไปกับเราได้ทุกที่

สาระน่ารู้ในการฝึกลูกสุนัขให้เข้าสังคม

1. การฝึกลูกสุนัขต้องตั้งเป้าหมายชัดเจนว่า ต้องการให้สุนัขรู้จักใคร/อะไร การฝึกลูกสุนัขให้เข้าสังคมคือ การสอนให้ลูกสุนัขได้รู้ว่า ชีวิตเป็นเรื่องสนุกและปลอดภัย หากเขารู้สึกกลัวหรือตกใจ นี่ย่อมไม่ใช่การฝึกให้เข้าสังคมที่ดี อันที่จริงแล้วกลับเป็นการสอนสิ่งที่ตรงกันข้าม นั่นคือคุณกำลังสร้างสิ่งที่ทำให้เขากลัวทั้งที่ความเป็นจริงแล้วกำลังพยายามป้องกันไม่ให้เขารู้สึกอย่างนั้น ควรเตรียมขนมและเกมให้พร้อม เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีสำหรับลูกสุนัข

2. รวบรวมรายชื่อคน/สิ่งของที่ลูกสุนัขได้พบเจอในชีวิต โดยควรรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ที่คิดว่า เขาจะได้พบ ได้ยินหรือประสบให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าเมื่อเขาอยู่ที่บ้านหรือข้างนอกก็ตาม ไม่ต้องกลัวที่จะลองคิดอะไรแปลกใหม่ ควรให้โอกาสลูกสุนัขได้มีประสบการณ์ต่าง ๆ ในลักษณะที่ปลอดภัยและเป็นไปในทางบวก ควรเริ่มต้นการฝึกโดยให้เขาอยู่ห่าง ๆ จากคุณพร้อมกับให้รางวัลเขาที่ไม่สนใจสิ่งรบกวนเหล่านั้นได้ หลังจากนั้นค่อย ๆ ขยับให้เขาเข้ามาใกล้มากขึ้น

3. เป้าหมายของการฝึกลูกสุนัขให้เข้าสังคมก็คือ การฝึกให้ลูกสุนัขรู้ว่า คน สุนัขและสถานการณ์อื่น ๆ นั้น ก็มีความปลอดภัยและเป็นสิ่งที่สนุก วิธีการสอนสิ่งเหล่านี้ให้ลูกสุนัขคือ การสอนเขาให้รู้จักสิ่งเหล่านั้นได้ในลักษณะที่ไม่คุกคามเท่านั้น ไม่ควรทำให้ลูกสุนัขตื่นตกใจหรือกลัว โดยให้เขาอยู่ห่างจากคุณและให้เขาขยับเข้าใกล้เมื่อเขาพร้อมเท่านั้น

4. ไม่บังคับและต้องเตรียมทางหลบหนีไว้ให้ลูกสุนัขด้วย

5. ลองให้สุนัขได้พบกับคนหลาย ๆ แบบ ทั้งที่เป็นสมาชิกในบ้านหรือคนอื่น ๆ รวมถึงสุนัขตัวอื่น ๆ ที่เป็นมิตรด้วย แต่อย่าลืมว่า เป้าหมายของเราคือ การที่เขาได้ใช้เวลาร่วมกับสุนัขตัวอื่นอย่างมีความสุข แต่ไม่ใช่ให้เขาวิ่งไปเล่นกับสุนัขตัวไหนก็ได้ที่เขาได้เจอ

6. ลองใช้แอปคลิปเสียงหรืออุปกรณ์อื่นที่คล้ายกันเพื่อปล่อยเสียงที่อาจได้ยินโดยไม่คาดคิด (เช่น เสียงประทัดดอกไม้ไฟ เสียงฟ้าผ่าฟ้าร้อง เป็นต้น) ให้เริ่มจากจากการเปิดเสียงเหล่านี้แทรกเบา ๆ ระหว่างที่เขากำลังทำสิ่งที่เขาชอบเช่น กินอาหารหรือเล่น เพื่อป้องกันปัญหาการไวต่อเสียงรบกวน

7. ลองพาลูกสุนัขไปเข้าชั้นเรียนลูกสุนัข เนื่องจากเขาจะได้ฝึกวิธีฟังคำสั่งจากคุณเมื่อมีสุนัขตัวอื่นอยู่รอบ ๆ การฝึกนี้จะช่วยให้เขาได้มีประสบการณ์กับสุนัขและคนอื่น ๆ มากขึ้น

8. การเข้าสังคมโดยพบกับสุนัขและเจ้าของสุนัขคนอื่น ๆ ทำให้เราได้รู้ว่า ลูกสุนัขของเราชอบอะไรและจะเล่นกับอะไร สุนัขโตที่เป็นมิตรก็เป็นครูที่ดีสำหรับลูกสุนัขเช่นกัน

9. การฝึกลูกสุนัขให้เข้าสังคมควรทำอย่างต่อเนื่องจนเขาโต เมื่อลูกสุนัขได้ผ่านประสบการณ์ในช่วงต่าง ๆ ก็จะทำให้เขามีความมั่นใจมากขึ้น แต่ก็อาจจะมีช่วงที่เขากังวลหรือกลัวเช่นกัน ช่วงเวลานี้เราควรใส่ใจเนื่องจากสิ่งเหล่านี้จะสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นกับร่างกายและสมองของลูกสุนัข โดยเขาจะต้องการความช่วยเหลือจากคุณในการเอาชนะช่วงเวลาที่มีความกลัวเช่นนี้

10. ดังนั้นควรทำให้การฝึกลูกสุนัขให้เข้าสังคมเป็นสิ่งที่สนุกสำหรับลูกสุนัขและเพื่อตัวคุณเองด้วย

การเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตโดยมีคนและสุนัขตัวอื่นอยู่รอบตัวเป็นสิ่งสำคัญพอ ๆ กับการสอนลูกสุนัขให้รู้จักอยู่ตามลำพังได้ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องสัญญาณเบื้องต้นของอาการวิตกกังวลที่เกิดจากการแยกจากกันของลูกสุนัข ได้ที่นี่