Sorry, you need to enable JavaScript to visit this website.
Your Pet, Our Passion.
Cat stroked in blankets.

เมื่อแมวเป็นเบาหวาน

5 นาที

แม้โรคเบาหวานจะใช้เวลาในการรักษาค่อนข้างนาน แต่ใช่ว่าแมวจะต้องทรมานและไม่มีความสุขกับอาการป่วยนี้เสมอไป คุณสามารถอ่านคำแนะนำของ Purina ในบทความนี้ ตรวจสอบว่าแมวเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ และหากเป็นแล้วต้องดูแลเขาอย่างไร

โดยทั่วไปแล้ว โรคเบาหวานที่เกิดขึ้นกับแมวไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เนื่องจากเป็นโรคที่มียาช่วยควบคุมอาการได้ระยะยาวโดยไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของแมว อันที่จริงแล้ว หากเรารักและดูแลเอาใจใส่เขา แมวก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตของตัวเองตามปกติได้ก่อนที่เราจะรู้ตัวด้วยซ้ำ

หากแมวของคุณป่วยเป็นโรคเบาหวานหรือสงสัยว่าป่วยเป็นโรคเบาหวาน บทความนี้มีข้อมูลเกี่ยวกับอาการที่คนรักแมวต้องรู้

 

โรคเบาหวานในแมว

โรคเบาหวานของแมวนั้นแบ่งออกเป็นหลายประเภทเช่นเดียวกับของมนุษย์ สัตวแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยและแจ้งให้ทราบว่าแมวของคุณป่วยเป็นโรคเบาหวานชนิดใดพร้อมให้ข้อมูลต่าง ๆ เบาหวานชนิดที่ 1 (type one) เป็นเบาหวานที่พบมากที่สุดในสุนัข แต่พบได้น้อยในแมว แมวส่วนใหญ่มักป่วยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type II Diabetes) เสียมากกว่า เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘Diabetes Mellitus’ หรือโรค DM

 

เบาหวานชนิดที่ 2 ในแมวคืออะไร

เบาหวานชนิดที่ 2 เป็นภาวะที่ร่างกายแมวนำน้ำตาลไปใช้เป็นแหล่งพลังงานได้น้อย ส่งผลให้ร่างกายส่งพลังงานไปเลี้ยงกล้ามเนื้อผิดวิธี หากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้น้ำหนักตัวลดหรือป่วยเป็นโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ

โดยปกติแล้วเมื่อแมวกินอาหาร กระเพาะอาหารจะค่อย ๆ ย่อยอาหารเป็นอนุภาคเล็ก ๆ ตามสารอาหารแต่ละประเภทที่กินเข้าไป หนึ่งในอนุภาคเหล่านี้ก็คือ น้ำตาลหรือกลูโคส เมื่อระบบย่อยอาหารสกัดกลูโคสออกมาแล้ว ร่างกายแมวจะดูดซึมกลูโคสที่ถูกส่งออกจากระบบย่อยอาหารเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อนำไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายต่อไป ไม่ว่าจะเป็นหัวใจ กล้ามเนื้อ กลายเป็นแหล่งพลังงานให้แมวปีนป่าย กระโดดหรือเล่นสนุกนั่นเอง

ก่อนที่ร่างกายแมวจะนำกลูโคสไปใช้เป็นพลังงานได้นั้นจำเป็นต้องพึ่งพา “อินซูลิน” ฮอร์โมนซึ่งผลิตจากตับอ่อน หากตับอ่อนของแมวผลิตอินซูลินไม่ได้ด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตามหรือผลิตไม่เพียงพอ จะส่งผลให้ร่างกายนำกลูโคสจากเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ไม่ได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ ร่างกายของแมวจะมีกลูโคสตกค้างจำนวนมาก หรือมีน้ำตาลอยู่ในเลือดมากเกินไป ซึ่งเราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “เบาหวาน” ในแมว เมื่อแมวเป็นเบาหวาน อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายก็จะไม่ได้รับกลูโคสเพียงพอที่จะนำไปใช้เป็นพลังงาน ทำให้แมวต้องนำไขมันและโปรตีนไปใช้สร้างพลังงานแทน ด้วยเหตุนี้แมวจึงมีน้ำหนักลดและอาจมีมวลกล้ามเนื้อน้อยลง

ทำไมแมวจึงเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน

แมวก็เหมือนกับคน บางตัวมีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานมากกว่าเพื่อนแมวตัวอื่น ๆ โดยเฉพาะแมวสูงวัยหรือแมวน้ำหนักเกิน หากคุณสงสัยว่า แมวของคุณน้ำหนักเกินหรือไม่ ลองเข้าไปศึกษาข้อมูลคำแนะนำได้ที่บทความเรื่องคำแนะนำสำหรับแมวน้ำหนักเกิน

เลี้ยงสามารถช่วยแก้ไขและดูแลแมวที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานได้ หากรู้สัญญาณและอาการของโรคเบาหวานล่วงหน้า

 

อาการของโรคเบาหวานในแมว

การสังเกตอาการของโรคเบาหวานในแมวนั้นค่อนข้างยาก เจ้าของอาจต้องอาศัยกลอุบายบ้างเนื่องจากแมวไม่ชอบเปิดเผยเรื่องส่วนตัวให้ใครรู้ อย่างไรก็ตาม ถ้าเราสังเกตให้ดีก็จะเห็นอาการหรือสัญญาณบ่งบอกของโรคเบาหวานได้ก่อนที่จะสายเกินแก้ แมวที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานมักมีอาการดังนี้

  • ดื่มน้ำถี่ขึ้น
  • ปัสสาวะบ่อยขึ้น
  • กินอาหารมากขึ้น
  • กินอาหารมากกว่าปกติแต่น้ำหนักลด
  • ขนดูสุขภาพไม่ดี ไม่เงางามต่างจากสภาพขนตามปกติอย่างชัดเจน

หากแมวป่วยเป็นเบาหวาน ฉี่ของแมวจะมีน้ำตาลปะปนอยู่มากกว่าปกติ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (recurrent urinary tract infections) ถ้าแมวมีอาการเบื้องต้นหลายข้อ ให้ปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคให้แน่ใจ

อาการเหล่านี้อาจบ่งบอกปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ ดังนั้นควรปรึกษาสัตวแพทย์แม้คุณจะมั่นใจว่าแมวป่วยเป็นโรคเบาหวานก็ตาม

 

การวินิจฉัยโรคเบาหวานในแมว

ในกรณีที่สงสัยว่าแมวน่าจะเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Diabetes Mellitus) สัตวแพทย์จะนำตัวอย่างเลือดและปัสสาวะของแมวไปตรวจเบื้องต้น เพื่อวัดระดับกลูโคสในร่างกายแมว แมวจะถูกแอดมิดเป็น “ผู้ป่วยใน” ระหว่างที่รอผลเลือดและปัสสาวะ เมื่อตรวจเสร็จแล้วคุณสามารถรับแมวกลับบ้านได้

 

การรักษาโรคเบาหวานในแมว

หากผลเลือดและปัสสาวะพบกลูโคสในปริมาณสูง สัตวแพทย์จะพยายามหาวิธีควบคุมระดับกลูโคสในเลือดก่อน โดยปกติมักใช้วิธีควบคุมอาหาร ฉีดอินซูลินหรือทั้งสองอย่างควบคู่กัน กรณีที่ต้องฉีดอินซูลินให้แมวที่บ้าน สัตวแพทย์อาจให้คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับแมวป่วยเพื่อให้เขาได้รับประโยชน์จากสารอาหารครบถ้วน

คุณควรพาแมวไปพบสัตวแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามอาการ โดยหมออาจแนะนำให้ปรับอาหารแมวหรือระดับอินซูลินตามสมควร เห็นไหมว่าการดูแลไม่ได้มีขั้นตอนซับซ้อนเลย เมื่อคุณกับสัตวแพทย์ปรับตารางการกินและการฉีดอินซูลินเจ้าเหมียวจนควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้แล้ว ที่เหลือก็แค่พาน้องแมวมาตรวจร่างกายสม่ำเสมอ และควบคุมอาหารให้ดี เขาก็จะกลับมาสดใสและมีชีวิตชีวาอีกครั้ง

แม้การรักษาเบาหวานในแมวต้องใช้เวลาและเอาใจใส่ แต่เจ้าของสามารถดูแลแมวให้หายป่วยได้ในระยะยาว เพื่อให้น้องแมวได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเหมือนที่เคยและคุณก็จะได้ใช้เวลากับเขาด้วย

หากต้องการข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพและโภชนาการของแมวเพิ่มเติม อ่านคำแนะนำของ Purina ได้ที่บทความเรื่อง แมวท้องผูกควรทำยังไงดี