Sorry, you need to enable JavaScript to visit this website.
Your Pet, Our Passion.
โรคพิษสุนัขบ้า โรคอันตรายที่แมวก็เป็นได้

โรคพิษสุนัขบ้า โรคอันตรายที่แมวก็เป็นได้

3 นาที

โรคพิษสุนัขบ้า โรคอันตรายที่แมวก็เป็นได้

เมื่อเข้าสู่หน้าร้อน หลายๆ คนคงนึกถึงโรคอันตรายที่ระบาดหนักอยู่แทบจะทุกปีอย่างโรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ แม้จะได้ชื่อว่าเกี่ยวกับสุนัข แต่เจ้าของน้องแมวก็อย่าเพิ่งวางใจไป เพราะโรคพิษสุนัขบ้านี้สามารถติดต่อมาสู่น้องแมวได้ และที่สำคัญคือสามารถติดต่อมาสู่คน รวมทั้งยังติดต่อไปยังสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นน้องแมว หรือคนที่ติดโรคนี้ เชื้อไวรัสจะก่อให้เกิดอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้ มารู้จักโรคพิษสุนัขบ้าในแมวและป้องกันอย่างถูกวิธีไปพร้อมๆ กัน ให้ครอบครัวอุ่นใจ ห่างไกลจากภัยโรคพิษสุนัขบ้ากันดีกว่า

โรคพิษสุนัขบ้าในแมว

โรคพิษสุนัขบ้าติดต่อได้อย่างไร?

เชื้อไวรัส “โรคพิษสุนัขบ้า” สามารถติดต่อผ่านทางน้ำลายสัตว์ป่วย เช่น การกัด ข่วน หรือเลียบริเวณบาดแผล ทำให้เชื้อไวรัสในน้ำลายจะเข้าสู่บาดแผล โรคนี้สามารถติดต่อได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคน สุนัข หรือแมว ก็สามารถเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ นอกจากนี้ยังพบว่ามีการติดเชื้อในสัตว์ป่า เช่น ค้างคาว ลิง สุนัขจิ้งจอก ได้ด้วยเช่นกัน

โรคพิษสุนัขบ้าในแมว

สัญญาณอันตรายต้องสังเกต

หากติดเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าในแมว เชื้อไวรัสจะเข้าทำลายระบบประสาท โดยเมื่อแมวที่ป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้าแสดงอาการออกมาแล้วก็มักจะทำให้สัตว์ที่ป่วยเสียชีวิตภายใน 10 วัน อาการของโรคแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ในระยะเริ่มต้นจะดูคล้ายอาการป่วยทั่วๆ ไป เช่น ซึม มีไข้ โดยกินระยะเวลาประมาณ 2-3 วัน จากนั้นจะเข้าสู่ระยะตื่นเต้น โดยจะมีอาการกระวนกระวาย หงุดหงิด พฤติกรรมเปลี่ยนไป และสุดท้ายจะเข้าสู่ระยะอัมพาต โดยจะพบว่าโรคพิษสุนัขบ้าในแมวจะทำให้มีการทรงตัวผิดปกติ กลืนลำบาก ร่างกายบางส่วนหรือทั่วทั้งตัวเป็นอัมพาต น้ำลายไหลมาก จะเห็นว่ามีอาการคล้ายกลัวน้ำในระยะนี้

โรคพิษสุนัขบ้าในแมว

ป้องกันก่อนสาย

โรคร้ายป้องกันได้ด้วยการทำวัคซีน โดยเริ่มทำวัคซีนเข็มแรกที่อายุประมาณ 3 เดือน เข็มที่ 2 เมื่ออายุ 6 เดือน และทำการกระตุ้นวัคซีนเป็นประจำทุกปี หากสงสัยว่าน้องแมวป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้า ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์ทันที และแจ้งข้อมูลต่างๆ ด้านสุขภาพ เช่น ประวัติการทำวัคซีน ประวัติการดูแลสุขภาพ ลักษณะการเลี้ยงให้ครบถ้วนเพื่อให้คุณหมอทำการตรวจวินิจฉัยต่อไปได้