Sorry, you need to enable JavaScript to visit this website.
Your Pet, Our Passion.
สุนัขมีสุขภาพดี

ทำอย่างไรให้สุขนัข​ มีสุขภาพดีอยู่เสมอ

7 นาที

ทำอย่างไรให้สุนัขมีสุขภาพดีอยู่เสมอ

ลักษณะของสุนัขที่มีสุขภาพดี การที่จะทำให้สุนัขของคุณมีสุขภาพดีได้นั้น คุณจะต้องทำความเข้าใจก่อนว่าลักษณะอย่างใดที่ถือว่าสุนัขมีสุขภาพและพฤติกรรมที่ปกติดี เมื่อเข้าใจแล้ว คุณจะสามารถสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลง ที่อาจบอกได้ว่าสุนัขป่วยหรือได้รับบาดเจ็บถึงขั้นที่อาจจะต้องถึงมือสัตวแพทย์

ตา

ตาจะต้องใสและสว่าง ไม่มีสีแดงหรือสีเหลือง หากมีสีผิดปกติขุ่นมัว มีน้ำตา มีขี้ตามากหรือผิดปกติลักษณะอื่น ๆ ให้รีบพาสุนัขไปหาสัตวแพทย์ทันที

หู

หูจะต้องสะอาด ปราศจากขี้หูและกลิ่น เปิดหูสุนัขขึ้นมาดูสัปดาห์ละครั้งหรือบ่อยกว่านั้น ถ้าสุนัขของคุณเป็นพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่อโรคในหูสูง (เช่น สุนัขพันธุ์ขนยาวหรือพันธุ์ที่มีหูยาวแกว่งไปมาอย่างเช่น ค็อกเกอร์สแปเนียลล์) ถ้ารูหูแดง อักเสบ ร้อน มีกลิ่น หรือไวต่อการสัมผัสให้ปรึกษาสัตวแพทย์

ช่องปาก

เหงือกจะต้องดูเป็นสีชมพู ไม่แดงหรืออาการบวมตรงบริเวณโคนฟัน ฟันจะต้องไม่มีหินปูนสะสม และไม่ควรมีกลิ่นปาก

ผิวหนังและขน

ต้องไม่มีเนื้องอก ก้อนเนื้อ เห็บและหมัด คุณสามารถตรวจสอบได้โดยการใช้มือแหวกไปตาขนสุนัข ขนสุนัขปกติต้องหนาและเงางาม ไม่มีส่วนที่เป็นมัน รังแคหรือร่วงเป็นจ้ำ

ขา

คุณควรตรวจสอบขาสุนัขดูว่ามีการบวมที่ข้อหรือไม่ ตรวจดูที่อุ้งเท้าระหว่างนิ้วว่ามีขนขึ้นมากเกินไปหรือมีเศษวัสดุอะไรไปตำอยู่หรือไม่ รวมทั้งดูสภาพของเล็บด้วย

ทวารหนัก

ต้องไม่บวมและไม่มีปรสิตในลำไส้ การที่สุนัขเอาก้นไถพื้นนั้นอาจเป็นการพยายามบรรเทาอาการต่อมก้นบวม ให้พาสุนัขไปพบสัตวแพทย์ พาสุนัขไปพบสัตวแพทย์เป็นประจำ ควรให้สุนัขทำความคุ้นเคยกับสัตวแพทย์ เพื่อที่เขาจะได้รู้สึกไว้ใจและเชื่อใจในสัตวแพทย์

การตรวจสุขภาพตามปกติของสุนัข

สำหรับการพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์เป็นครั้งแรกนั้น ให้เตรียมข้อมูลไปให้มากที่สุดเท่าที่มี รวมทั้งวันเกิดของสุนัขหรือประวัติการฉีดวัคซีนเพื่อแจ้งให้สัตวแพทย์ทราบ

การฉีดวัคซีนให้สุนัข

ลูกสุนัขเกิดใหม่จะได้รับภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านเชื้อโรคในนมแม่แรกคลอด แต่ภูมิคุ้มกันจากแม่ที่ว่านี้ โดยปกติแล้วจะอยู่ได้เพียง 6 – 16 สัปดาห์เท่านั้น หลังจากนั้นสุนัขต้องได้รับการปกป้องด้วยวัคซีน ซึ่งหมายถึง การฉีดเชื้อโรคที่ผ่านกระบวนการดัดแปลงแล้วเข้าไปในร่างกายของสุนัขเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสุนัขเกิดการสร้างแอนตี้บอดี้ขึ้นเอง โดยสัตวแพทย์จะช่วยแนะนำคุณได้ว่าสุนัขต้องฉีดวัคซีนอะไร และเมื่อใดบ้าง เพื่อเป็นการป้องกันโรค

การทำหมันให้สุนัข

เพราะการทำหมันเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการลดจำนวนสัตว์เลี้ยงซึ่งไม่เป็นที่ต้องการ และยังสามารถช่วยลดความเสี่ยงอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งเต้านมได้ในสุนัขเพศเมีย แนะนำให้พาไปพบสัตว์แพทย์เพื่อรับคำแนะนำเพิ่มเติม

อาการป่วยอื่น ๆ ของสุนัข

แม้สุนัขจะได้รับการดูแลมาเป็นอย่างดีก็ตาม แต่สุนัขก็ยังมีอาการป่วยหรือบาดเจ็บได้ อาทิอาการท้องอืด ถ่ายเหลว และอาการกินยากเป็นต้น ดังนั้นคุณควรหมั่นสังเกตอาการและสุขภาพของสุนัข หากสุนัขของคุณแสดงอาการหรือพฤติกรรมที่ผิดปกติ ให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์

พยาธิในร่างกาย

พยาธิภายในร่างกายมักจะอาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหารของสุนัขและจะสามารถตรวจพบได้จากอุจจาระของสุนัข

พยาธิหัวใจ

ติดต่อผ่านทางยุง พยาธิที่มีอันตรายชนิดนี้จะอาศัยอยู่ในหัวใจของสุนัขใกล้ ๆ กับหลอดเลือดใหญ่และอาจทำให้ถึงตายได้ การรักษาพยาธิหัวใจทำได้ยาก แต่การป้องกันทำได้ง่ายโดยพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อรับยา การให้ยามักจะให้กินติดต่อกันเป็นเดือนในฤดูที่มียุงชุกชุม หรือในบางแห่งต้องให้ตลอดทั้งปี ควรตรวจเลือดทุกปีเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีพยาธิหัวใจก่อนจะให้ยาป้องกัน ห้ามให้ยารักษาพยาธิหัวใจด้วยตนเองโดยไม่พาไปพบสัตวแพทย์

พยาธิปากขอ

เป็นพยาธิที่อันตรายที่สุดชนิดหนึ่ง พยาธิปากขออาจทำให้เกิดอาการเซื่องซึม โลหิตจาง เบื่ออาหาร หรืออุจจาระเป็นสีดำและมีเลือดปน

พยาธิตัวกลม

เป็นพยาธิที่มีลำตัวกลมคล้ายเส้นสปาเก็ตตี้และก่อให้เกิดอาการท้องป่อง พยาธิชนิดนี้มักจะพบเห็นได้ในอุจจาระหรืออาเจียนของสุนัข โดยจะมีอาการที่แตกต่างกันไปตั้งแต่น้ำหนักลด อ่อนเพลีย อาเจียน ท้องร่วง หรือถ่ายเป็นมูก ขาดน้ำ ท้องป่อง และอาจจะมีอาการปอดบวม

พยาธิแส้ม้า

พยาธิชนิดนี้ก่อให้เกิดการอักเสบเรื้อรังในลำไส้ ถ่ายเป็นมูก น้ำหนักลด และท้องร่วง

พยาธิตัวตืด

สาเหตุอาจเกิดจากการกินตัวอ่อนพยาธิที่อยู่ในตัวหมัดหรือไข่ที่มีพยาธิเข้าไป โดยจะไม่แสดงอาการที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน แต่อาจจะพบตัวพยาธินี้บริเวณทวารหนักหรืออุจจาระของสุนัข จะสังเกตได้ว่าลำตัวของพยาธิตัวตืดจะมีลักษณะยาวต่อกันเป็นปล้อง ๆ แต่ละปล้องมีลักษณะคล้ายเมล็ดข้าวสารขนาดเล็ก พยาธิตัวตืดที่โตเต็มที่แล้วจะกินอาหารจากลำไส้ ทำให้สุนัขกินอาหารมากขึ้นแต่น้ำหนักไม่ขึ้น เชื้อบิด ทำให้สุนัขท้องเสีย มีไข้ น้ำหนักลด และสุนัขมีอาการเบื่ออาหาร หรืออาจไม่แสดงอาการเลย

พยาธิภายนอกร่างกาย

พยาธิภายนอกร่างกายจะอาศัยอยู่บนร่างกายสุนัข สามารถวินิจฉัยได้โดยการตรวจร่างกายและการทดสอบผิวหนัง หมัด สุนัขที่ติดหมัดมักจะเกาและกัดตัวเองเป็นประจำ อาจจะมีจุดแดงเล็ก ๆ บนผิวหนังสุนัข หรืออาจมีจุดสีดำ(ขี้หมัด) ติดแน่นกับขนบริเวณคอหรือก้น หมัดอาจจะทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง ซึ่งจะปรากฏสะเก็ดแผลบนผิวหนังของสุนัข ให้ปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งวิธีการป้องกันที่ดี

เห็บ

หากพบเห็นบนตัวสุนัข ให้สวมถุงมือและใช้แหนบคีบเห็บออกไป โดยคีบเห็บบริเวณหัวและค่อย ๆ ดึงออกมาเด็ดหัวของเห็บทิ้ง และเช็ดบริเวณนั้นด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำยาล้างแผล เพื่อป้องกันการติดเชื้อหรือผิวหนังอักเสบ โทรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อหาวิธีรักษาต่อไป

ไร

ไรที่พบได้บ่อยคือ “ไรขี้เรื้อน” ตัวไรจะอาศัยอยู่ตามผิวหนังหรือในรูขุมขนและไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ไรขี้เรื้อนเป็นไรที่แพร่กระจายได้ง่ายกว่าเล็นไร แต่ไรทั้งสองประเภทสามารถแพร่กระจายได้เร็วและยากแก่การรักษา ควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อทำการรักษา

ไรในหู

ไรในหูอาจจะทำให้สุนัขเกาหรือตะกุยหูและสั่นหัว จนทำให้เส้นเลือดฝอยที่ใบหูแตกและเกิดอาการบวมได้ ให้คุณหมั่นตรวจหูสุนัขว่ามีขี้หูสีคล้ำหรือมีสะเก็ดเลือดแห้งกรังหรือไม่ และควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อหาการรักษาที่เหมาะสม

เชื้อรา Ringworm

เชื้อราชนิดนี้แพร่กระจายได้เร็วมากและสามารถติดต่อไปถึงคนได้ด้วย โดยจะปรากฏเชื้อราเป็นวงกลมโดยรอบผิวหนังของสุนัข สัตวแพทย์สามารถให้ยาที่สามารถรักษา Ringworm ให้แก่สุนัขของคุณได้